วันอาทิตย์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ฝุ่น Pm2.5

ฝุ่น PM 2.5


PM2.5 คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน อาจเทียบอย่างง่ายว่ามีขนาดประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ เล็กขนาดที่ขนจมูกของมนุษย์นั้นไม่สามารถกรองได้ ทำให้ฝุ่นละอองชนิดนี้สามารถแพร่กระจายเข้าสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือด และแทรกซึมสู่กระบวนการทำงานในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคเรื้อรัง




โดยที่ PM2.5 เกิดขึ้นได้จาก 2 ปัจจัยหลักคือ

1. แหล่งกำเนิดโดยตรง ได้แก่
  • การเผาในที่โล่ง ปล่อย PM2.5 มากที่สุดถึง 209,937 ตันต่อปี โดยมาจากการเผาในพื้นที่เพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อป้อนเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานการผลิตอาหารของบริษัทอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่ในภาคเหนือตอนบนของไทยและภูมิภาคลุ่มน้ำโขง รวมไปถึงหมอกควันพิษข้ามพรมแดน
  • การคมนาคมขนส่ง ปล่อย PM2.5 ราว 50,240 ตันต่อปี โดยมาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงทั้งดีเซลและแก๊สโซฮอล์เป็นหลัก อีกทั้งยังเป็นแหล่งกำเนิดของออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) อีกด้วย
  • การผลิตไฟฟ้า ปล่อย PM2.5 ราว 31,793 ตันต่อปี แม้จะมีค่า PM2.5 น้อยกว่าการเผาในที่โล่งและการคมนาคมขนส่ง หากแต่กลับมีสัดส่วนในการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) สู่ชั้นบรรยากาศมากที่สุด
  • อุตสาหกรรมการผลิต ปล่อย PM2.5 ราว 65,140 ตันต่อปี โดยพบมากที่สุดในพื้นท่ีเขตควบคุมมลพิษมาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งเกิดจากสารอินทรีย์ระเหยง่ายจากสารเคมีและอุตสาหกรรม

2. การรวมตัวของก๊าซอื่นๆ ในบรรยากาศ โดยเฉพาะซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) รวมทั้งมีสารปรอท (Hg), แคดเมียม (Cd), อาร์เซนิก (As) หรือโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) ที่ล้วนแล้วแต่เป็นสารพิษที่เป็นอันตรายต่อร่างกายของมนุษย์
ด้วยองค์ประกอบของสารพิษเหล่านี้ ทำให้องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้ PM2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง ตั้งแต่ปี 2556 อีกทั้งยังเป็นสาเหตุให้ 1 ใน 8 ของประชากรโลกเสียชีวิตก่อนวัยอันควร สอดรับกับรายงานของธนาคารโลก (World Bank) ที่ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากมลพิษในอากาศเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากถึง 50,000 ราย ซึ่งการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรนี้ส่งผลกระทบไปถึงระบบเศรษฐกิจ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายที่รัฐจะต้องสูญเสียเกี่ยวเนื่องกับการรักษาพยาบาลผู้ป่วยจากมลภาวะทางอากาศนี้อีกด้วย

ค่า PM2.5 ตามกำหนดองค์การอนามัยโลก
ในปี 2548 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกคำแนะนำเพิ่มเติมในการกำหนดค่าเป้าหมายของค่ามาตรฐานเฉลี่ย 1 ปี แบ่งเป็น 4 ระดับ ได้แก่ 35, 25, 15 และ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขึ้นอยู่กับระดับการพัฒนาของประเทศ โดยค่าเฉลี่ยรายปีและค่าเฉลี่ยใน 24 ชั่วโมงขององค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 10 และ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ

แต่ไทยได้มีการกำหนดค่าไว้สูงกว่าค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก โดยมีค่าเฉลี่ยรายปีและค่าเฉลี่ยใน 24 ชั่วโมงไว้ที่ 25 และ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามข้อสรุปขององค์การสหประชาชาติ (UN) ที่ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา ทำให้เป็นประเทศที่ได้รับสิทธิพิเศษที่จะสามารถปล่อยมลพิษทางอากาศได้มากกว่าหลายประเทศ

กรีนพีซ ได้รายงานค่าฝุ่นละอองจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษทั้งหมด 61 แห่งใน 29 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่ามีจำนวนสถานีที่ตรวจวัดและรายงานค่า PM2.5 อยู่เพียง 25 สถานีใน 18 จังหวัด พบค่า PM2.5 สูงสุดอยู่ที่จังหวัดสระบุรี (หน้าพระลาน) ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรม จำนวน 36 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และรองลงมาคือกรุงเทพฯ (ธนบุรี) จำนวน 31 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งพบว่ามาจากการคมนาคมสัญจร

หลังจากนั้น กรีนพีซได้นำค่า PM2.5 เข้าไปวัดร่วมกับผลดัชนีคุณภาพอากาศจากกรมควบคุมมลพิษ พบว่าผลดัชนีคุณภาพอากาศย้อนหลัง 3 ปี คือปี 2558-2560 นั้นมีมลพิษเกินค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกและค่ามาตรฐานของประเทศไทย เป็นช่วงเวลา 3 ปีซ้อนที่พบว่าค่ามาตรฐานมลพิษในอากาศของประเทศไทยยังคงแย่เหมือนเดิม

ไม่ใช่เพียงแค่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่กำลังจะต้องเผชิญกับปัญหามลภาวะครั้งใหม่ เพราะการขยายฐานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคใต้ที่จะกลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือแม้กระทั่งแผนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยที่ยังไม่เคยได้มีการกล่าวถึงการจัดการกับตัวการของปัญหาสุขภาพอย่าง PM2.5 ที่กำลังจะเพิ่มขึ้นไปตามการพัฒนาของเมือง สวนทางกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ซึ่งเป็นหนึ่งหมุดหมายในร่างยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ที่ระบุไว้ว่าประเทศไทยจะต้องดำเนินการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมตามที่ลงนามรองรับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 ขององค์การสหประชาชาติ
ดังนั้นปัญหามลภาวะจาก PM2.5 จึงเป็นสิ่งที่ควรจัดการควบคู่ไปกับแผนพัฒนายุทธศาสตร์ชาติ เพื่อพัฒนาคุณภาพอากาศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

โดยมีตัวอย่างจากหลายประเทศที่ประสบผลสำเร็จในการควบคุมมลพิษในอากาศ ซึ่งเริ่มแรกมีการกำหนดค่าการปล่อย PM2.5 ไว้ใกล้เคียงกับไทย แต่ปัจจุบันประเทศเหล่านี้ได้ดำเนินเรื่องนี้ในเชิงนโยบายเพื่อคุ้มครองสุขภาพพลเมืองในประเทศ เช่น สิงคโปร์, ญี่ปุ่น, อเมริกา ที่ปัจจุบันมีค่า PM2.5 อยู่ที่ 12, 14 และ 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ใกล้เคียงกับค่าเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก และเอาจริงเอาจังในการคุ้มครองประชาชนด้วยจัดการแก้ไขปัญหาระบบขนส่งสาธารณะเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะเป็นทางเลือกหลัก ตลอดจนควบคุมการปล่อยสารพิษของโรงงานอุตสาหกรรม สาเหตุของปัญหามลภาวะอย่างจริงจัง  

ในขณะที่ประเทศไทยกำลังเริ่มต้นรับรู้ในเรื่องของ PM2.5 อยู่นี้ องค์การอนามัยโลกและนานาชาติก็ก้าวไปอีกขั้นด้วยการหันไปจับตามองและถกกันในเรื่องของฝุ่นที่มีขนาดเล็กระดับนาโน (Environmental Nano-pollutants: ENP) และหาวิธีการรับมือเพื่อคุ้มครองประชาชนอย่างจริงจัง จากมลภาวะที่กำลังก่อตัวเป็นหมอกควันขึ้นไปเกาะตัวบนชั้นโอโซน แล้วย้อนกลับลงมาเพื่อสร้างผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์โดยตรง

อาจต้องมาดูกันว่าอากาศหมอกควันที่แผ่คลุมท้องฟ้าอยู่ในขณะนี้จะได้รับการแก้ไขอย่างไร เพราะนี่ไม่ใช่เพียงปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นในช่วงรอยต่อของฤดูกาลเท่านั้น หากแต่เกิดขึ้นจากการสะสมของสารพิษที่มากขึ้นทุกขณะโดยขาดการรับมืออย่างจริงจัง

ถึงเวลาแล้วที่เราต้องหันมาถกกันอย่างจริงจังว่า ทำอย่างไรเราจึงจะมีอากาศที่ดีได้ใช้หายใจตามสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์

ภาพประกอบ: Karin Foxx
อ้างอิง:

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Technology

Technology 4.0 “ดิจิทัล 4.0” และ “ดิจิทัลไทยแลนด์” เป็นวลีที่คนไทยเริ่มจะได้ยินบ่อยขึ้นในช่วงหลายปีมานี้ หลายคนอาจจะสงสัยว่าหมายถึงอะ...